ทักษะ EF คืออะไร ส่งเสริมได้อย่างไร
ทักษะ EF คือ การทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ควบคุมความคิด พฤติกรรม อารมณ์ แล้วนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายได้
ทักษะนี้ไม่ได้มีตัวมนุษย์มาแต่แรกเกิด เหมือนการหายใจ หรือการย่อยอาหาร แต่ทักษะ EF จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้รับการเลี้ยงดู และฝึกฝนอย่างเหมาะสม
ทักษะ EF สามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิต แต่ช่วง 3-5 ปี เป็นช่วงที่พัฒนาได้ดีที่สุด ทุกพัฒนาการมีลำดับขั้น ซึ่งทักษะ EF ถือเป็นพัฒนาการขั้นบนๆ ฉะนั้นพัฒนาการตัวตน พัฒนาการ 4 ด้านที่ดี จะช่วยสนับสนุนให้ทักษะ EF พัฒนาได้ดี

การส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กอายุ 0-1.6 ปี
เมื่อเด็กน้อยลืมตาขึ้นมาในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล สิ่งแรกที่เขาต้องการคือ ใครซักคนที่ไว้ใจได้ เข้าใจเขาและเป็นคนที่สามารถพึ่งพาได้ เนื่องจากพวกเขายังไม่รู้จักความสามารถตนเอง รวมถึงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย
พ่อแม่จึงมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นอย่างไม่มีเงื่อนไข แม่จะต้องสร้าง “ตัวตน” เพื่อทำให้ลูกเห็นว่า เราเป็น “แม่ที่มีอยู่จริง” เราสามารถดูแลและให้ความอบอุ่นแก่พวกเขาได้ เมื่อแม่สามารถสร้างความผูกพันและสร้างความไว้วางใจให้กับลูกได้แล้ว ลูกน้อยจะเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นและมีความหวังที่จะเรียนรู้กับโลกใบนี้ต่อไป
“สายสัมพันธ์” จะเกิดขึ้นเมื่อก็ต่อเมื่อสิ่งนั้น “มีอยู่จริง” สายสัมพันธ์เป็นเสมือนเชือกเส้นยาว ที่ยึดโยงความรู้สึกของคนทั้งสองไว้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดบนโลก หน้าของแม่ก็จะถูกประทับไว้ในใจเขาเสมอ ซึ่งจะส่งผลต่อความคิด พฤติกรรมและการกระทำของลูกน้อยในอนาคต
ตัวอย่างวิธีการส่งเสริม EF
Sensory plays เป็นกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็กเล็ก เนื่องจากเวลาที่เด็กทารกเกิดมานั้น พัฒนาการเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์มากนัก พ่อแม่จึงควรกระตุ้นให้ลูกน้อยได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การลิ้มรส และการสัมผัส
โดยเด็กในวัยนี้อาจจะยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่มากนัก จึงต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้และการกระตุ้นจากบุคคลรอบข้าง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อยอดไปสู่การพัฒนาการของเซลล์สมองนั่นเอง
- “กัด ดูด อม หนูชอบยิ่งนัก” การสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยปาก ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเด็กเล็ก พ่อแม่จึงควรจัดเตรียมของกิน อุปกรณ์หรือสิ่งของที่สามารถเข้าปากได้โดยไม่เกิดอันตราย รวมถึงคอยคำนึงและดูแลเรื่องความสะอาดของสิ่งของต่างๆ ก่อนที่ลูกจะใช้สำรวจด้วย
- “แม่จ๋า ขอเสียงหน่อย” เสียงของแม่เป็นเสียงที่ลูกน้อยคุ้นชินตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเสียงนี้เองสามารถใช้ปลอบประโลมเขาได้ในทุกสถานการณ์ การที่แม่พูดคุย ร้องเพลง เล่านิทาน อธิบาย และสร้างเสียงที่แตกต่างให้เขาฟัง ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการได้เป็นอย่างดี รวมถึงจะช่วยในกระบวนการการเรียนรู้ทางภาษาของลูกน้อยได้อีกด้วย
- “ภาพมันเบลอ หรือเธอไม่ชัด” เมื่อแรกเกิดระยะการมองเห็นของลูกน้อยจะยังไม่ชัดมากนัก แม่จึงต้องกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อยโดยการก้มหน้าไปพูดคุย สบตา ยิ้ม เล่นจ๊ะเอ๋ ส่องกระจก เพื่อกระตุ้นความสนใจให้เด็กเกิดการเรียนรู้
- “คว้าจับ สัมผัสหน่อย” เตรียมสิ่งของที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างมาให้ลูกคว้าจับ เป็นการส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ได้อย่างดีเยี่ยม คุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกน้อยได้คว้าจับสิ่งของต่าง ๆ ด้วยตนเองเป็นประจำ รวมถึงโอบกอด สร้างความอบอุ่นให้กับลูกน้อยอยู่เสมอ
- “กลิ่นนี้ หนูชอบ” ในระยะแรกลูกน้อยอาจจะจำแนกและแยกกลิ่นต่างๆ ได้ไม่ดีมากนัก เนื่องจากประสาทสัมผัสทางด้านนี้ยังถูกพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ กลิ่นโปรดกลิ่นเดียวของลูกน้อย ก็คงหนีไม่พ้น “กลิ่นของแม่” อย่างแน่นอน คุณแม่จึงจำเป็นต้องหากลิ่นต่างๆ มาให้ลูกดมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ เช่น กลิ่นผลไม้ กลิ่นแป้ง กลิ่นสบู่ กลิ่นอาหาร หรือกลิ่นอื่นๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และพัฒนาประสาทสัมผัสการรับรู้กลิ่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
- “แม่จ๋า ขอนมหน่อย” ถือว่าเป็นช่วง “เวลาคุณภาพ” เพราะเป็นช่วงที่คุณแม่และคุณลูกจะได้ใช้เวลาและมีปฏิสัมพันธ์แนบชิดระหว่างกัน ลูกน้อยจะได้พัฒนาประสาทสัมผัสในทุกๆ ด้าน ได้มองหน้า สบตา สัมผัส ได้กลิ่นและลิ้มรส รวมถึงได้ฟังเสียงหัวใจที่ตนเองคุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในท้อง นอกจากนี้ในน้ำนมแม่มีสาร Oxytocin ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ที่ช่วยผสานให้เกิดสายสัมพันธ์ระหว่างการให้นม ทั้งยังช่วยให้ลูกน้อยเกิดความรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายในขณะที่ได้อยู่ในอ้อมอกแม่อีกด้วย

การส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กอายุ 1.6-3 ปี
สายสัมพันธ์ที่ดี มีผลต่อการสร้าง ตัวตน ของเด็กในช่วงวัยนี้เป็นอย่างมาก พ่อแม่มีหน้าที่ “สะท้อน” ให้เขาได้มองเห็นว่าตนเองเป็นใคร มีความสามารถยังไง ทำอะไรได้หรือไม่ได้ ปล่อยให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามวัย ไม่คาดหวังหรือกดดันมากเกินไป
เด็กในช่วงวัยนี้เรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง หากได้รับการสนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กได้กระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองตามสมควร เด็กจะมีการพัฒนาตัวเองไปในลักษณะที่มีโอกาสเลือกลอง และอยู่ในระเบียบวินัยไปในตัว ในทางตรงข้ามถ้าพ่อแม่เคร่งครัดเจ้าระเบียบให้เด็กอยู่ในระเบียบตลอดเวลาหรือเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป (ไม่ยอมรับสิ่งที่เด็กทำขึ้นมาด้วยตนเอง เด็กจะพัฒนาตัวเองไปในรูปแบบที่ไม่แน่ใจในตนเองหรือไม่กล้าที่จะทำอะไรด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างวิธีการส่งเสริม EF
- “ออกไปใช้ร่างกายกันเถอะ” ออกแบบกิจกรรมและจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย เช่น สร้างพื้นที่ให้ลูกได้ทดลองสำรวจร่างกายในพื้นผิวที่แตกต่างกัน ให้เด็กได้มุด ลอด โหน ไต่ กระโดด กลิ้ง เพื่อส่งเสริมการรับรู้ผ่านกล้ามเนื้อ-เอ็น-ข้อต่อ และระบบการทรงตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานของการการวางแผนการเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมร่างกายของตนเอง ทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในการเคลื่อนไหวของตนเอง
- “การเล่นอิสระ” นับเป็น งานอย่างหนึ่ง ของเด็กทุกคน โดยเด็กจะต้องเป็นคนวางแผน ตัดสินใจและประเมินเองว่า จะเล่นอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร โดยพ่อแม่มีหน้าที่จัดเตรียมของเล่นที่ส่งเสริมการใช้จินตนาการปลายเปิดที่เหมาะสมกับวัย เช่น ไม้บล็อก ตัวต่อ หรือชุดของเล่นต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกน้อยยังคงต้องการการสนับสนุนทั้งทางกายและใจจากแม่เป็นอย่างยิ่ง คุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น อย่าสอน ตัดสิน หรือแก้ไข แต่ให้ติดตามเรื่องราวในจินตนาการเพื่อพัฒนาความสามารถในการรู้จักคิดของลูกน้อย
- “กาลครึ่งนานมาแล้ว” หนังสือนิทานยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่พ่อแม่เลือกใช้ในการส่งเสริม EF ให้กับลูกน้อย เพราะในขณะที่เรากำลังอ่านเนื้อหาในหนังสืออยู่นั้น สมองทุกส่วนของเด็กจะเริ่มเกิดการทำงาน เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการใช้ภาษา พัฒนาการมองเห็น ได้ฟังโทนเสียงที่แตกต่าง ได้ใช้จินตนาการ จดจ่อใส่ใจ รวมถึงได้เชื่อมโยงเรื่องราวและลำดับเหตุการณ์ ซึ่งหนังสือนิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นหนังสือภาพ มีคำบรรยายประกอบเพียงสั้นๆ ไม่ต้องมีเนื้อหามากนัก เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับตนเอง เรียนรู้เรื่องอารมณ์
- “บีบ จับ นวด คลึง” งานปั้นถือเป็นงานที่ส่งเสริมพัฒนาการในเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี เป็นการส่งเสริมพัฒนาการในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการได้ถ่ายทอดจินตนาการผ่านมือจิ๋วๆ และได้ใช้ดวงตาดวงน้อยๆ ในการลองประสานภาพในมิติสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงยังช่วยสร้างและฝึกสมาธิให้กับลูกน้อยได้เป็นอย่างดี เมื่อไหร่ที่คุณแม่รู้สึกหมดมุกในการหากิจกรรมมาเล่นกับเขา อย่าลืมหยิบแป้งโดว์ ดินเหนียว ดินน้ำมันมาดัดแปลงใช้กับของเล่นเดิมที่มีอยู่ รับรองว่าลูกน้อยจะเอนจอยและขะมักเขม้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างยาวนานแน่นอนค่ะ

การส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กอายุ 3-5 ปี
ในระยะนี้ถือเป็นช่วงวัยแห่งการ “สร้างประสบการณ์เพื่อเกิดทักษะ” คุณแม่มีหน้าที่จัดหาประสบการณ์ สร้างสถานการณ์ที่จะทำให้ลูกน้อยของเราได้สังเกต สงสัย ตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ คัดเลือก วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ ลองผิดลองถูก แสดงความคิดเห็น และนำไปสู่การเลือกวิธีในการแก้ปัญหา เพื่อเกิดการพัฒนาของเซลล์ในสมองอย่างสูงสุด
เด็กในวัยนี้จะมีความกระตือรือร้น ต้องการมีความรับผิดชอบ อยากช่วยเหลืองานบ้าน เข้าใจและคุ้นเคยลำดับขั้นตอนของกิจวัตรประจำวันของตนเอง เริ่มอยากมีของเป็นของตนเอง เช่น ตุ๊กตา ของเล่น สัตว์เลี้ยง สนใจในงานและกิจกรรมของผู้ใหญ่ มีการลอกเลียนแบบการทำงานหรือบุคลิกภาพของบุคคลที่เขาประทับใจ พ่อแม่เป็นบทบาทสำคัญในการเป็นต้นแบบให้กับลูกๆ
ตัวอย่างวิธีการส่งเสริม EF
- “จะเอาเดี๋ยวนี้!” คำพูดคุ้นหูที่แม่ๆ หลายท่านมักจะได้ยินจากลูกน้อยบ่อยๆ เด็กในช่วงวัยนี้เริ่มมีความคิดเป็นของตนเองและมักยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หน้าที่ของคุณแม่คือ “ทำความเข้าใจ” และ “ช่วยลดความรู้สึกกะวนกระวายใจ” ฝึกให้รู้จักอดทนรอ โดยการไม่ตอบสนองในทันทีที่ลูกต้องการ แต่ให้บอกจุดสิ้นสุดของการรอคอยให้ชัดเจน เช่น “แม่รู้ว่าหนูอยากกินขนมตอนนี้ แต่รอแม่เก็บของตรงนี้เสร็จ แล้วเราไปหยิบขนมกันนะ” หรือหากิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทนทำด้วยกัน เช่น ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เป็นต้น
- “ทำ 3 อย่างนี้ให้แม่หน่อย” ลองมอบหมายให้ลูกทำภารกิจ 3 อย่าง เช่น ให้ลูกจานไปเก็บ เอาถุงขนมไปทิ้ง และหยิบนมในตู้เย็นมา 2 กล่อง แล้วคุณแม่คอยเฝ้าดูว่าลูกน้อยจัดลำดับความคิดในหัวและสามารถทำภารกิจได้สำเร็จหรือไม่
- “บทบาทที่หนูอยากเป็น” การเล่นบทบาทสมมติเป็นการแสดงบทบาทตามจินตนาการและความเข้าใจของเด็ก เพื่อที่จะตอบสนองและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งรอบตัว เด็กสามารถทำได้อย่างเต็มที่ ไม่มีผิด ถูก ไม่กดดัน ถือเป็นการส่งเสริมจินตนาการและสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดการแก้ไขเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
- “เล่นกับหนูหน่อย” จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก มักจะเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ใหม่ที่ไม่ถูกคุกคามหรือกดดันจนเกินไป ในช่วงเวลานั้นสมองก็จะถูกกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดทางความคิด ขณะเดียวกันก็เกิด การถักทอสายสัมพันธ์ ระหว่างแม่และลูก “การเล่น” จึงเปรียบเสมือนเป็นอิฐก้อนแรกของการเชื่อมโยงความผูกพัน การพัฒนาสมองส่วน EF และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
- “ร้องเล่นเต้นไปกับเสียงดนตรี” กิจกรรมดนตรีเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของประสาทสัมผัส สมอง อารมณ์และความคิด ข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งไปที่สมองส่วนหน้าเพื่อคิดและตัดสินใจว่า เราจะทำอย่างไรกับเสียงที่ได้ยิน จะลุกขึ้นเต้นตามจังหวะหรือจะเปล่งเสียงร้องออกไปให้ตรงกับโน๊ตและทำนองที่เราคุ้นเคย เมื่อตัดสินใจเสร็จสิ้นแล้ว สมองส่วนหน้าจะส่งต่อข้อมูลไปยังสมองส่วนอื่นๆ เพื่อเริ่มทำกิจกรรมนั้นๆ

การส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กอายุ 5-7 ปี
สมองของเด็กในช่วงวัยนี้เปรียบเหมือนเส้นทางที่คดเคี้ยวและเลี้ยวลด เขาสามารถคิดได้อย่างมีตรรกะ เข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบ เป็นระยะที่เขามีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายๆ ด้าน มีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมต่างๆ การเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ และการมีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ ๆ กลายเป็น ‘งานประจำวัน’ ของเขา
จุดสำคัญของพัฒนาการระยะนี้คือการได้แสดงออกว่าเขามีความคิด และมีความสามารถเหมือนผู้ใหญ่คนอื่น ๆ เช่นกัน ในช่วงอายุนี้พ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตเพราะเป็นระยะที่พวกเขาเริ่มไตร่ตรองถึงอนาคต การที่ได้พิสูจน์ว่ามีความสามารถกระทำสิ่งต่างๆ ในขอบเขตของเขาได้อย่างเหมาะสม ทำให้เด็กในวัยนี้มีความเชื่อมั่นว่าเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต
ตัวอย่างวิธีการส่งเสริม EF
- “วันนี้เล่นเกมอะไรดี” คุณแม่รู้หรือไม่ว่าบอร์ดเกมที่เราเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นเกมเศรษฐี บันไดงู เกมไพ่ต่างๆ นอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้กับทุกคนในครอบครัวแล้วแล้ว ยังสร้างทักษะ EF ให้กับผู้เล่นได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เล่นจะต้องมีทักษะการแก้ปัญหา ใช้ตรรกะและเหตุผล คิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อหาวิธีเอาชนะผู้เล่นคนอื่น ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมาจากการคิดวิเคราะห์ผ่านสมองส่วนหน้าทั้งสิ้น
ซึ่งในปัจจุบันมีบอร์ดเกมส์ให้คุณแม่เลือกสรรให้กับลูกน้อยมากมาย ที่จะช่วยให้เด็ก ได้พัฒนาทั้งความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ ความจำ การวางแผน การสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เกมส์ Spinderrella เป็นเกมส์ที่เด็กๆ จะได้ควบคุมโดยการใช้แม่เหล็กในชักรอกลงมากินเบี้ยคู่แข่ง หรือ เกมส์ Splendor เป็นเกมส์ซื้อขายเพชร ที่ต้องใช้ไหวพริบในการวางแผนหยิบเหรียญ หรือเกมส์ Halli Galli เป็นเกมส์ที่ผู้เล่นจะต้องดูและจำการ์ดของตนเพื่อกดกระดิ่งให้เร็วที่สุด ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้กฏกติกาที่มีความแตกต่างกันในแต่ละเกมส์แล้ว เด็กๆ ยังได้มี ‘ช่วงเวลาแห่งคุณภาพ’ ที่ได้ใช้ร่วมกับทุกคนในครอบครัวอีกด้วย
- “ออกไปข้างนอกกันเถอะ” เมื่อเด็กๆ ได้ออกไปเรียนรู้ในโลกกว้าง ได้สัมผัสกับธรรมชาติ สมองส่วนหน้าของเขาจะถูกกระตุ้นให้เกิดความคิดมากขึ้น ลูกจะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว สังเกต สงสัย และพบเห็นสิ่งน่าสนใจใหม่ๆ ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกน้อยเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการประเมินความเสี่ยง พยายามเอาตัวรอด และกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย
- “รับเมนูอะไรดีคะ” การพาลูกน้อยเข้าครัวถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมทักษะ EF ได้เป็นอย่างดี คุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เข้ามาช่วยงานในครัว โดยเริ่มจากการมอบหมายหน้าที่ง่ายๆ เช่น ล้างผัก จัดเตรียมอุปกรณ์ หรือหั่นผักง่ายๆ เพื่อสอนให้เขารู้จักวัตถุดิบและสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในครัว เมื่อเขาเริ่มคุ้นชินแล้ว ลองเปิดโอกาสให้ได้สัมผัสและลงมือทำด้วยตนเอง โดยเริ่มจากเมนูง่ายๆ เพื่อให้เขาได้ลองใช้ความจำในการลงมือทำเมนูต่างๆ รวมถึงได้ประเมินสถานการณ์ ลองสังเกต เลียนแบบ คิดวางแผน และทำงานอย่างเป็นระบบตามลำดับที่เหมาะสม
- “งานอาร์ตประจำวัน” การทำงานศิลปะที่เน้นกระบวนการ (Project art) เป็นการฝึกความคิดเชิงบริหารที่ลูกน้อยจะต้องใช้สมาธิ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ฝึกความยืดหยุ่นของสมองเพื่อหาวิธีการในการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ หน้าที่ของคุณแม่คือเป็นผู้ประครองและสนับสนุนให้ลูกได้ทำผลงานตามใจหวัง คอยมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของกระบวนการมากกว่าความสวยงาม และอย่าลืมจัดเตรียมหัวข้อและเตรียมอุปกรณ์ที่หลากหลายไว้ให้พร้อม จากนั้นส่งไม้ต่อให้เจ้าตัวเล็กได้ตะลุยละเลงและสร้างผลงานของเขาได้อย่างเต็มที่ไปเลย
ลูกจะโตไปเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู
Music and EF มีคอร์สดนตรีที่ส่งเสริมทักษะ EF มาทดลองกันได้นะคะ มีคำถามเพิ่มเติมทักมาได้เลยค่ะ ครูตอบเอง^^