ทักษะEF

ทักษะ EF รวมสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ และวิธีส่งเสริม

ทุกพัฒนาการมีลำดับขั้น มีปัจจัยที่ส่งเสริม ทักษะ EF ก็เช่นเดียวกัน

 

มาทำความเข้าใจความหมาย ความสำคัญ ลำดับขั้นพัฒนาการ ปัจจัยส่งเสริม องค์ประกอบ และวิธีส่งเสริม ทักษะ EF ในบทความนี้กันค่ะ

ทักษะ EF (Executive Function) คืออะไร

ทักษะ EF คือ “ทักษะสมองที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จ” เป็นการคิดเชิงบริหารจัดการ ใช้ความคิดขั้นสูงที่ทุกคนจำเป็นต้องฝึก เพื่อที่จะทำให้เติบใหญ่ไปเป็นบุคคลสามารถจัดการความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม กำกับตนเอง และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้

ทำไมทักษะ EF จึงจำเป็น

ถ้าเปรียบสมองเป็นบริษัท สมองส่วน EF คือตำแหน่งผู้บริหาร/ประธานบริษัท บริษัทจะเติบโตและกลายเป็นบริษัทที่มั่นคงได้ ก็ต้องอาศัยคำสั่งที่มีประสิทธิภาพและการทำงานอย่างเป็นระบบจากผู้บริหาร ถ้าบริษัทไหนมีผู้บริหารที่ไม่มั่นคง ไม่อดทน ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของบริษัทได้ บริษัทนั้นคงล้มละลายอย่างไม่เป็นท่าแน่นอน ดังนั้น ผลประกอบการ (MQ, IQ, EQ, SQ) ในแต่ละไตรมาสหรือการเติบโตของบริษัทจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับทิศทางและการตัดสินใจจากท่านประธานนั่นเอง

 

เพราะทักษะ EF คือรากฐานของความสำเร็จ

    • เป็นเด็กความจำดี
    • มีสมาธิจดจ่อได้นานและต่อเนื่อง
    • สามารถคาดการณ์ผลของการกระทำได้
    • สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้ รวมถึงมีผลสำเร็จที่ดี
    • มีความยืดหยุ่นทางความคิด และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
    • รู้จักประเมินตนเอง รวมถึงสามารถประเมินความสามารถของตนเองได้
    • ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้าง
    • เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น
    • รู้จักยับยั้งและควบคุมตนเองได้เป็นอย่างดี
    • รู้จักอดทน รอคอย และแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม
    • ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ไม่รบกวนผู้อื่นพร่ำเพรื่อ
    • มีเป้าหมายชัดเจน
    • มีความพร้อมทางด้านการเรียนที่มากกว่า และนำสู่การประสบความสำเร็จในอนาคต
    • มีความพร้อมต่อการเรียนรู้ และปรับตัว ในศตวรรษที่ 21

ดนตรี ส่งเสริมทักษะ EF อย่างไร

เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มพื้้นฐาน

 

  • Working Memory การจำข้อมูล และประมวลผลข้อมูล

ในการอ่านหนังสือ เราจำพยัญชนะ และวิธีการประสมคำได้ เราใช้ความจำนั้นประมวลผลร่วมกับตัวหนังสือที่เห็นตรงหน้า จึงสามารถอ่านเข้าใจได้ ในดนตรีเปรียบได้กับการบรรเลงโดยการอ่านโน้ต

หรือ การจำเสียงตัวโน้ต โด เร มี ได้ เมื่อได้ยินทำนอง เช่น มีเรโดเรมีมีมี (ทำนองเพลงหนูมาลี) ก็สามารถเล่นตามได้โดยไม่ต้องอ่านโน้ต หรือดูตัวอย่าง

 

เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มพื้้นฐาน

 

  • Inhibitory Control สามารถหยุดตัวเอง ในเวลาที่เหมาะสม

ในการเล่นดนตรี การควบคุมจังหวะให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับเพลง ถือเป็นสิ่งจำเป็น เด็กๆ จะได้ฝึกควบคุมตัวเองให้เคลื่อนไหวตรงจังหวะเพลง หรือหยุดรอ ในขณะที่ยังไม่ถึงคิว

เช่น เพลง Walk and You Walk and You Walk and You Stop!, เพลง Move and Freeze

 
 
เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มพื้้นฐาน
 
  • Cognitive Flexibility สามารถเปลี่ยนวิธีคิดเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน

ในเพลง หนึ่งเพลง เด็กๆสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น เพลง แมงมุมลายตัวนั้น

ครั้งที่ 1 ร้องเพลง

ครั้งที่ 2 ทำท่า

ครั้งที่ 3 สร้างเสียงแมงมุมร่วง เสียงแดดออกน้ำแห้ง โดยใช้เครื่องดนตรี

การใช้กิจกรรมที่หลากหลาย และการสร้างเสียงตามจินตนาการ จะช่วยให้เด็กๆ ยืดหยุ่น และมีความคิดสร้างสรรค์

 

เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มกำกับตนเอง

 

  • Focus / Attention การใช้ความคิดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

โดยธรรมชาติ เด็กๆ มักชอบเสียงดนตรีอยู่แล้ว และยิ่งถ้าเขาได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นเรื่องราวเดียวกับเสียงดนตรี ได้สร้างสรรค์เสียงดนตรีให้เข้ากับเพลง จะทำให้เขาสนุกและจดจ่อกับกิจกรรมได้นานขึ้น เป็นการส่งเสริมการจดจ่อ ใส่ใจ

 

เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มกำกับตนเอง

 

  • Emotional Control ควบคุมอารมณ์และแสดงออกมาป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม

การที่เราจะจัดการกับอารมณ์ได้ดีนั้น จำเป็นที่เราจะต้องรู้จักกับอารมณ์นั้นซะก่อน ว่ารู้สึกแบบนี้นะคือสนุก แบบนี้คือเศร้า แบบนี้คือตื่นเต้น

ด้วยตัวดนตรี มีจังหวะ ทำนอง และโทนเสียงที่หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างความรู้สึกต่างๆ ได้ เช่น สนุก เศร้า โกรธ ดนตรีจึงถือเป็นสื่อที่ดีในการให้เด็กๆ รู้จัก และเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์

และอีกเรื่องที่ช่วยฝึกเรื่องการควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ก็คือการฝึกซ้อมดนตรี ตามตาราง แม้จะขี้เกียจหรือเหนื่อยแค่ไหน

 

เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มกำกับตนเอง

 

 

  • Self-Monitoring ติดตามประเมินตนเอง

ในการซ้อม เราจะได้ทบทวนและประเมินตนเองว่า เราพัฒนาไปหาเป้าหมายหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

หรือ การเล่นของเรา ถ้าเปรียบเทียบกับต้นแบบแล้ว มันมีอะไรที่ดีแล้ว อะไรที่ควรปรับ หรืออะไรที่คิดต่าง

 

เรียนดนตรีส่งเสริมทักษะEF กลุ่มปฎิบัติ

 

  • Initiating, Planning/Organizing, Goal-Directed Persistence ริเริ่ม ลงมือทำได้ด้วยตัวเอง, วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ, มุ่งเป้าหมาย

ขอรวม 3 ทักษะ นี้ไว้ด้วยกัน เพราะแต่ละทักษะ ส่งผลสืบเนื่องกัน หากเขามีเป้าหมายชัด เขาก็จะเริ่มวางแผน จัดระบบ ลงมือทำได้ด้วยตัวเอง และบากบั่นทำจนกว่าจะถึงเป้าหมาย

เช่น

    • มีเป้าหมายว่าอีก 6 เดือนจะสอบเกรด
    • วางแผน และกำหนดระยะเวลา ในการหัดเพลง, ขัดเกลาให้เพราะ, เล่นให้คนอื่นดูบ่อยๆ เพื่อลดความประหม่า 
    • ลงมือฝึกซ้อมตามตาราง โดยไม่ต้องมีใครมาบอก
    • พากเพียรทำจนกว่าจะสอบผ่าน

ลำดับขั้น ก่อนจะถึงทักษะ EF

การจะพัฒนาทักษะ EF ได้ดี เด็กควรมีพัฒนาการพื้นฐาน ที่แข็งแรงก่อน เริ่มด้วยพัฒนาการตัวตน พัฒนาการ 4ด้าน เมื่อพื้นฐานแข็งแรงดีแล้วค่อยมาเน้นพัฒนาทักษะ EF โดยขั้นทั้งหมดไม่ได้แยกขาดจากกัน กล่าวคือ เมื่อมีพัฒนาการตัวตน พัฒนาการ 4ด้านที่ดี จะเอื้อให้พัฒนาทักษะ EF ได้ดี และในขณะเดียวกันการที่มีพัฒนาการทักษะ EF ที่ดี ก็จะไปเสริมให้พัฒนาการตัวตน และพัฒนาการ 4 ด้านดีเพิ่มขึ้นไปอีก

 

พัฒนาการตัวตน

  • 0-12 เดือน แม่มีอยู่จริง (Object Constancy) เด็กเกิดมาเขาจะไม่รู้ว่ามีแม่ แม่ต้องอุ้ม โอ๋ ให้นม วนซ้ำไปเรื่อยๆ จนลูกรู้ว่ามีคนคนหนึ่ง ที่จะให้ความปลอดภัยเขาได้ทุกครั้ง ที่ต้องการ นั่นก็คือ แม่มีอยู่จริง ส่งเสริมด้วยการตอบสนองทุกความต้องการของลูก ไม่มีคำว่ามากเกินไป

 

  • 2-3 ปี สายสัมพันธ์ (Attachment) คือสายใยความรัก ความผูกพันที่โยงแม่ลูกไว้ เมื่อเด็กไว้ใจแม่ จึงไว้ใจโลก กล้าที่จะออกไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ

 

  • 3 ปี ตัวตน (Self) คือความรู้สึกนึกคิด โดยก่อนหน้านี้เด็กจะเข้าใจว่าตัวเอง คือหน่วยเดียวกับแม่ จนถึงพัฒนาการขั้นนี้ที่ค้นพบว่าตัวเองเป็นอีกหน่วยที่แยกต่างหากจากแม่ จะเป็นช่วงที่เขาเห่อความสามารถตัวเอง หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ Terrible Twos, Terrible  Threes ส่งเสริมโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของเขา ให้โอกาสเขาได้เลือก ได้ตัดสินใจ สะท้อนและยอมรับอารมณ์ความรู้สึกเขา เช่น รู้ค่ะ ว่าตอนนี้หนูโกรธ ที่ไม่ได้ของเล่น

 

  • 4 ขวบ การเห็นคุณค่าในตัวเอง  (Self-esteem) ส่งเสริมโดย ให้เด็กได้ทดลองทำอะไรที่ท้าทายตามพัฒนาการของตัวเอง พยายามสร้างความสำเร็จเล็กๆให้เขาในทุกวัน แล้วกล่าวชื่นชม โดยเน้นไปที่พฤติกรรม ไม่ใช่ผลลัพธ์ เช่น ลูกต่อบล็อคไม้ได้สูงกว่าทุกครั้ง ก็ชื่นชมว่า หนูเก่งมาก ที่มีความพยายามต่อจนสูงขนาดนี้ได้

 

**พฤติกรรมเด็ก 0-6 ปี และวิธีที่พ่อแม่ควรรับมือ หากพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของพฤติกรรมตามวัย และตอบสนองได้เหมาะสม จะทำให้ลูกมีพัฒนาการตัวตนที่ดี**

 

พัฒนาการ 4 ด้าน 

 

ทักษะ EF

  • เมื่อเด็กๆ มีพัฒนาการตัวตน พัฒนาการ 4 ด้านดีแล้ว เราค่อยมาเน้นพัฒนาที่ทักษะ EF โดยเริ่มที่กลุ่มพื้นฐาน (ความจำใช้งาน ยั้งคิดไตร่ตรอง ยืดหยุ่นความคิด)

หลักการทำงานของ ทักษะ EF

 

สายสัมพันธ์ที่ดี + สถานการณ์ท้าทาย  => เกิดทักษะ EF

 

สายสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้พัฒนาการตัวตนลูกดี ซึ่งนั่นคือฐานของพัฒนาการทักษะ EF และด้วยความรัก ความผูกพันนี้จะทำให้ลูกรักดี และมีเป้าหมายเดียวกับพ่อแม่ ซึ่งนั่นคือ ความต้องการสูงสุดของคนเป็นพ่อเป็นแม่ใช่หรือไม่

ส่งเสริมได้โดย

  • แสดงความรักต่อลูก : อุ้ม กอด หอม บอกรัก
  • มีเวลาคุณภาพร่วมกัน : เล่นด้วยกัน อ่านนิทาน ไปเที่ยว ฝ่าฝันอุปสรรคร่วมกัน
  • ให้ความสำคัญกับตัวตน ความรู้สึกนึกคิดนี้ของลูก :
    • รับฟังความคิดเห็นโดยไม่ตัดสิน
    • ไม่ใช้คำพูดที่บั่นทอน หรือทำลายตัวตน ความรู้สึกนึกคิดลูก
    • ช่วยเขาสะสมความสำเร็จเล็กๆ ในทุกวันเพื่อเพิ่ม Self-Esteem เมื่อเขารู้สึกดีกับตัวเอง เขาก็จะรู้สึกดีกับผู้มอบความรู้สึกนั้นให้เช่นกัน

 

สถานการณ์ท้าทาย ทักษะ EF จะไม่ถูกใช้งานเลย หากเด็กไม่ต้องคิด หรือมีผู้ช่วย คอยจัดเตรียม และคอยแก้ปัญหาให้เขาตลอด แต่ทักษะ EF ถูกใช้งานก็ต่อเมื่อ เด็กๆ อยู่ในสถานการณ์ท้าทาย

ส่งเสริมได้โดย

  • มอบโอกาสให้เด็กๆ ได้คิด ได้ตัดสินใจ ได้ควบคุมตัวเอง ได้ทดลอง ได้ฝึกทักษะใหม่ ได้วางแผน
    • เช่น การต้องควบคุมตัวเอง ให้ทำการบ้าน ซ้อมดนตรี  และเล่น ให้เสร็จก่อน 6 โมง
    • การได้วางแผนในการจัดกระเป๋าให้พร้อมการเรียนวันพรุ่งนี้
    • การได้ตัดสินใจเลือกว่า จะตักข้าวแค่ไหนถึงจะอิ่มพอดี

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมทักษะ EF

สายสัมพันธ์

  • ความรัก และสายสัมพันธ์ของพ่อแม่ คือฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าเขาจะหิว ล้ม เจ็บ จะมีคนรีบมาช่วยเขาเสมอ เมื่อนั้นเด็กถึงกล้าก้าวออกไปเรียนรู้โลก ทักษะต่างๆจึงพัฒนา

 

  • การใช้วินัยเชิงบวก จะช่วยให้พ่อแม่รักษาความสัมพันธ์ที่ดี กับลูกไว้ได้  เช่น อยากให้ลูกพูดเพราะๆ ก็พูดเพราะๆกับเขา เมื่อเขาทำตาม ให้ชื่นชมทันที “หนูน่ารักจังเลยค่ะ พูดกับคุณแม่มีคะ/ขาด้วย”  แต่หากใช้วินัยเชิงลบ เช่น อยากให้ลูกพูดเพราะๆ ก็บอกลูกว่า “พูดให้มันมีหางเสียงหน่อยได้มั้ย ดูลูกบ้านนั่นสิ น่ารักกว่าตั้งเยอะ” การเปรียบเทียบเช่นนี้ ทำให้พัฒนาการตัวตนถดถอย หรือการดุ การตี การใช้ถ้อยคำที่ทำร้ายความรู้สึก ทั้งหมดนี้กระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ และปิดกั้นการทำงานสมองส่วนเหตุผล หรือสมองส่วน EF

 

  • ครอบครัวมีแนวทางการเลี้ยงไปทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนของเด็ก ว่าตกลงต้องเชื่อใคร แล้วเรื่องนี้ทำได้หรือทำไม่ได้

 

สุขภาพร่างกาย

  • ดูแลร่างกายให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น การกินอาหารที่ดีได้รับสารอาหารครบถ้วน การนอนหลับสนิทเพียงพอ  และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมการทำงานของสมอง

 

สถานที่

  • ปลอดภัยทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ

 

  • ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย เปิดโอกาสให้เด็กได้ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย

 

  • ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม เช่น การไปโรงเรียน ออกค่าย พิพิธภัณฑ์ วัด หอศิลป์ หรือต่างจังหวัด

 

กิจกรรม

  • เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย เพราะสมองถูกกระตุ้น และพัฒนาได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยแต่ละช่วงวัยเด็กต้องการการกระตุ้นที่ต่างกันไป

 

  • เหมาะสมกับพัฒนาการ EF  เมื่อกลุ่มพื้นฐานทำงานเชื่อมโยงกันดีแล้ว ทักษะกลุ่มชั้นสูง (กำกับตนเอง และปฎิบัติ) จึงพัฒนาตามมา 

 

  • ให้โอกาสลูกได้ลองผิดลองถูก ได้คิด แก้ไขปัญหา ลงมือทำ รับมือกับความผิดหวัง ปรับเปลี่ยนวิธีการ เพียรพยายามทำจนบรรลุเป้าหมาย  

 

  • มีตารางกิจวัตรประจำวัน พร้อมพื้นที่ให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม จะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคง และมีความอดทนทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ 

 

  • ร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม เด็กจะได้เรียนรู้การเข้าสังคม ทำงานร่วมกัน การประนีประนอม และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 

องค์ประกอบของทักษะ EF

 

มี 9 ด้าน จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นฐาน กลุ่มกำกับตัวเอง และกลุ่มปฎิบัติ โดยละเอียด

ทักษะEF กลุ่มพื้นฐาน

ทักษะ EF กลุ่มพื้นฐาน

1.1 Working Memory 

(ความจำใช้งาน) คือ การจำข้อมูล 1 ชุด พร้อมกับประมวลร่วมกับข้อมูลอีก 1 ชุด  

การมี Working Memory ที่ดี

  • คิดวิเคราะห์ได้ดี
  • อ่านหนังสือรู้เรื่อง

สัญญาณเตือน

  • เชื่อมโยงความรู้ไม่ได้ 
  • สมาธิสั้น

 

 1.2 Inhibitory Control 

(การยั้งคิดไตร่ตรอง) คือ การยับยั้งการกระทำจากสิ่งล่อใจ หรือความเคยชินได้ และเลือกทำในสิ่งที่เหมาะสม 

การมี Inhibitory Control ดี

  • อดทนเก่ง
  • รู้กาละเทศะ

สัญญาณเตือน

  • หุนหันพลันแล่น
  • ขี้เบื่อ ทำงานไม่สำเร็จ

 

 1.3 Cognitive Flexibility 

(การยืดหยุ่นความคิด) คือ การปรับเปลี่ยนมุมมอง การสับเปลี่ยนความคิด 

การมี Cognitive Flexibility ดี

  • แก้ไขปัญหาได้ดี
  • มีความคิดสร้างสรรค์
  • เป็น Growth Mindset

สัญญาณเตือน

  • ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  • ปรับตัวยาก
ทักษะEF กลุ่มกำกับตนเอง

ทักษะ EF กลุ่มกำกับตนเอง

2.1 Focus 

(การจดจ่อ) คือการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าอยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่า Focus เป็นบันไดขั้นที่ 2  ต่อจาก Inhibitory Control ก็ว่าได้

การมี Focus ดี

  • จดจ่อได้ดี
  • เรียนรู้ได้เร็ว

สัญญาณเตือน

  • ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ
  • ทำเรื่องเดิมผิดซ้ำๆ

 

2.2 Emotion Control 

(การควบคุมอารมณ์) คือ จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ และแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเหมาะสม

การมี Emotion Control ดี

  • รู้กาละเทศะ 
  • มีความสัมพันธ์ที่ดี

สัญญาณเตือน

  • เมื่อเสียใจ จะแสดงออกมากกว่าเด็กคนอื่น
  • เข้าสังคมได้ยาก

 

2.3 Self-Monitoring 

(การประเมินตนเอง) คือ การประเมินตัวเองเพื่อหาจุดที่ทำดีแล้ว และจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข 

การมี Self-Monitoring ดี

  • รู้จัก และเข้าใจตัวเอง ว่าต้องการ หรือไม่ต้องการอะไร
  • มีความสัมพันธ์ที่ดี

สัญญาณเตือน

  • เอาความคิดตัวเองเป็น ศูนย์กลาง  
  • ไม่สามารถบอกความถนัด ความชอบตนเอง
ทักษะEF กลุ่มปฏิบัติ

ทักษะ EF กลุ่มปฏิบัติ

3.1 Initiating 

(การริเริ่มลงมือทำ) คือ การลงมือทำด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีใครคอยบอก หรือบังคับ 

การมี Initiating ดี

  • ขยัน
  • กล้าลองสิ่งที่ท้าทาย

สัญญาณเตือน

  • โอ้เอ้ ขี้เกียจ
  • ผลัดวันประกันพรุ่ง

 

3.2 Planning 

(การวางแผน) คือ เมื่อมีเป้าหมายก็วางแผน และ จัดลำดับความสำคัญ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

การมี Planning ที่ดี

  • ใช้เวลาทำงานได้อย่างมีคุณภาพ
  • จัดเก็บของอย่างมีระเบียบ

สัญญาณเตือน

  • ทำงานไม่เสร็จ
  • ทำอะไรแบบเก็บรายละเอียดเกินไป ไม่มองภาพใหญ่

 

3.3 Goal-Directed Persistence

(การมุ่งเป้าหมาย) คือ การพยายามต่อสู้บากบั่น แม้เจออุปสรรคล้มลง ก็ลุกขึ้นมาสุ้ต่อ ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะถึงเป้าหมาย 

การมี Goal-Directed Persistence ที่ดี

  • ประสบความสำเร็จทางการเรียน และการงาน
  • ทำอะไรทำจริงจัง

สัญญาณเตือน

  • ยอมแพ้อะไรง่ายๆ 
  • ขี้เบื่อ

การส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กอายุ 0 - 7 ปี

รูปแบบประโยค ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะ EF

  • เมื่อต้องการจะชมลูก ให้เจาะจงไปที่การกระทำ เช่น หนูเก่งมากเลยที่ช่วยแม่เก็บของจนหมด, หนูเป็นเด็กมีความพยายามมากเลยที่สามารถนั่งต่อเลโก้จนสำเร็จ

 

  • ให้ลูกน้อยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากที่สุด และพยายามคิดแทนลูกน้อยให้น้อยที่สุด EF จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ “เขาได้คิด” เช่น หนูจะเล่นอีก 5 นาทีหรือ 10 นาที, หนูอยากได้สีไหนมากกว่ากันคะ

 

  • เมื่อลูกน้อยทำผิดพลาด ให้คุณแม่ปลอบเขา อยู่ข้างๆ เป็นเพื่อนเขา อย่าพึ่งทอดทิ้งไปไหน เมื่อบรรยากาศภายในบ้านสงบแล้ว ให้ลองถามเขาว่า “ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ลูกคิดว่าจะทำอย่างไร”

 

  • เมื่อเห็นว่าลูกต้องการความช่วยเหลือ อย่าพึ่งรีบช่วย ให้ลองถามไปว่า “อยากให้แม่ช่วยเหลือตรงไหนไหม” ลองให้เขาค่อยๆ ประเมินความสามารถของตนเอง และตัดสินใจว่าอยากให้คุณแม่ช่วยในส่วนไหนบ้าง

 

  • ไม่ว่าจะเกิดอารมณ์อะไรขึ้นกับลูกก็ตาม ให้พ่อแม่ช่วยบอกถึงอารมณ์นั้นและทำให้เขาเห็นว่า เราพร้อมที่จะอยู่ข้างเขาเสมอ เช่น “ตอนนี้ลูกกำลังหงุดหงิด ลูกโอเคขึ้นเมื่อไหร่ เราค่อยมาคุยกันนะ”

 

  • เมื่อลูกทำผิดพลาดซ้ำๆ เราต้องเป็นคนเข้าใจเขาให้มากที่สุด และให้คิดเสมอว่าเขาพึ่งเติบโตมาบนโลกใบนี้ไม่กี่ปีเองนะ

 

  • ยอมรับในการตัดสินใจของลูกน้อย ให้เขาได้ลองเรียนรู้ถูกผิดจากผลของการกระทำ

 

**พฤติกรรม และวิธีที่พ่อแม่ควรรับมือ เด็ก 0-6 ปี