การเรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะ EF ทั้ง 9 ด้าน

 

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะความจำใช้งาน

(Working Memory การจำข้อมูล และประมวลผลข้อมูล)

ในการอ่านหนังสือ เราจำพยัญชนะ และวิธีการประสมคำได้ เราใช้ความจำนั้นประมวลผลร่วมกับตัวหนังสือที่เห็นตรงหน้า จึงสามารถอ่านเข้าใจได้ ในดนตรีเปรียบได้กับการบรรเลงโดยการอ่านโน้ต

หรือ การจำเสียงตัวโน้ต โด เร มี ได้ เมื่อได้ยินทำนอง เช่น มีเรโดเรมีมีมี (ทำนองเพลงหนูมาลี) ก็สามารถเล่นตามได้โดยไม่ต้องอ่านโน้ต หรือดูตัวอย่าง

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะการยั้งคิดไตร่ตรอง

(Inhibitory Control สามารถหยุดตัวเอง ในเวลาที่เหมาะสม)

ในการเล่นดนตรี การควบคุมจังหวะให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับเพลง ถือเป็นสิ่งจำเป็น เด็กๆ จะได้ฝึกควบคุมตัวเองให้เคลื่อนไหวตรงจังหวะเพลง หรือหยุดรอ ในขณะที่ยังไม่ถึงคิว

เช่น เพลง Walk and You Walk and You Walk and You Stop!, เพลง Move and Freeze

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะการยืดหยุ่นความคิด

(Cognitive Flexibility สามารถเปลี่ยนวิธีคิดเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน)

ในเพลง หนึ่งเพลง เด็กๆสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น เพลง แมงมุมลายตัวนั้น

ครั้งที่ 1 ร้องเพลง

ครั้งที่ 2 ทำท่า

ครั้งที่ 3 สร้างเสียงแมงมุมร่วง เสียงแดดออกน้ำแห้ง โดยใช้เครื่องดนตรี

การใช้กิจกรรมที่หลากหลาย และการสร้างเสียงตามจินตนาการ จะช่วยให้เด็กๆ ยืดหยุ่น และมีความคิดสร้างสรรค์

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะการจดจ่อใส่ใจ

(Focus / Attention การใช้ความคิดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด)

โดยธรรมชาติ เด็กๆ มักชอบเสียงดนตรีอยู่แล้ว และยิ่งถ้าเขาได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นเรื่องราวเดียวกับเสียงดนตรี ได้สร้างสรรค์เสียงดนตรีให้เข้ากับเพลง จะทำให้เขาสนุกและจดจ่อกับกิจกรรมได้นานขึ้น เป็นการส่งเสริมการจดจ่อ ใส่ใจ

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะการควบคุมอารมณ์

(Emotional Control ควบคุมอารมณ์และแสดงออกมาป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม)

การที่เราจะจัดการกับอารมณ์ได้ดีนั้น จำเป็นที่เราจะต้องรู้จักกับอารมณ์นั้นซะก่อน ว่ารู้สึกแบบนี้นะคือสนุก แบบนี้คือเศร้า แบบนี้คือตื่นเต้น

ด้วยตัวดนตรี มีจังหวะ ทำนอง และโทนเสียงที่หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างความรู้สึกต่างๆ ได้ เช่น สนุก เศร้า โกรธ ดนตรีจึงถือเป็นสื่อที่ดีในการให้เด็กๆ รู้จัก และเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์

และอีกเรื่องที่ช่วยฝึกเรื่องการควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ก็คือการฝึกซ้อมดนตรี ตามตาราง แม้จะขี้เกียจหรือเหนื่อยแค่ไหน

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะการติดตามประเมินตนเอง

(Self-Monitoring ติดตามประเมินตนเอง)

ในการซ้อม เราจะได้ทบทวนและประเมินตนเองว่า เราพัฒนาไปหาเป้าหมายหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

หรือ การเล่นของเรา ถ้าเปรียบเทียบกับต้นแบบแล้ว มันมีอะไรที่ดีแล้ว อะไรที่ควรปรับ หรืออะไรที่คิดต่าง

เรียนดนตรี ส่งเสริมทักษะ การลงมือทำ การวางแผนดำเนินการ และการเพียรสู่เป้าหมาย

(Initiating, Planning/Organizing, Goal-Directed Persistence ริเริ่ม ลงมือทำได้ด้วยตัวเอง, วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ, มุ่งเป้าหมาย)

ขอรวม 3 ทักษะ นี้ไว้ด้วยกัน เพราะแต่ละทักษะ ส่งผลสืบเนื่องกัน หากเขามีเป้าหมายชัด เขาก็จะเริ่มวางแผน จัดระบบ ลงมือทำได้ด้วยตัวเอง และบากบั่นทำจนกว่าจะถึงเป้าหมาย

เช่น

  • มีเป้าหมายว่าอีก 6 เดือนจะสอบเกรด
  • วางแผน และกำหนดระยะเวลา ในการหัดเพลง, ขัดเกลาให้เพราะ, เล่นให้คนอื่นดูบ่อยๆ เพื่อลดความประหม่า 
  • ลงมือฝึกซ้อมตามตาราง โดยไม่ต้องมีใครมาบอก
  • พากเพียรทำจนกว่าจะสอบผ่าน

บทความที่อาจสนใจ

เรียนดนตรีอย่างไรให้ลูกเก่ง และมีความสุข

ควรให้ลูกเริ่มเรียนดนตรีตอนกี่ขวบ